น้องถ้วยฟูพาเที่ยวแล้วแต่จะไป
วันนี้แดดอ่อนๆ ลมพัดอ่อยๆ อากาศน่าสบายค่ะ น้องถ้วยฟูชวนคุณคุณมาเดินเล่นริมแม่น้ำเจ้าพระยาค่ะยิ่งเดินยิ่งมีความสุขกับสายน้ำแห่งประวัติศาสตร์ที่ยาวนานผ่าน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่รู้กี่สมัยบรรพบุรุษใช้แม่น้ำสายนี้หล่อเลี้ยงชีวีมา เท่าที่มองไปถึงตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยามาจนกรุงธนบุรีตลอดจนกรุงรัตนโกสินทร์ผ่านมาหลายร้อยปีค่ะ ถ้วยฟูเดินมาหยุดที่ที่ดินแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรีค่ะถ้ามองผ่านสายตาไปยังฝั่งตรงข้ามก็จะเป็นฝั่งพระนครมองเห็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินต่อมาจนถึงปากคลองบางกอกน้อย สายลมพัดเส้นผมปลิวไสวบรรยากาศสดชื่นทำให้รู้สึกสบาย คุณแม่เตยเล่าว่า "นึกถึงภาพเก่าในอดีตที่คุณแม่และเพื่อนๆ มาวิ่งเล่นบริเวณนี้ มีเพื่อนเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันมาวิ่งเล่นมารอพ่อที่ทำงานที่สถานีรถไฟธนบุรีพอขบวนรถเข้าก็จะกลับบ้านกัน" จุดที่น้องถ้วยฟูยืนอยู่นี้เคยเป็นสถานีรถไฟธนบุรีที่ถ้วยฟูก็เกิดไม่ทันได้เห็นภาพสถานีจริงๆ "คุณแม่เล่าให้ถ้วยฟูฟังว่าหน้าสถานีรถไฟมีสวนสาธารณะที่ลูกรถไฟชวนกันมาวิ่งเล่น มีต้นไม้ใหญ่ มีสายลมพัดเย็นเหมือนกับที่ถ้วยฟูกำลังได้รับอยู่ขณะนี้ มีตัวตึกที่รับส่งสินค้า เป็นคลังสินค้าหลากหลายรอขนส่งไปกับขบวนรถไฟ แม่บอกว่าด้านข้างสถานีรถไฟจะมีตลาดสดที่เรียกติดปากว่า ตลาดหัวรถไฟ มีของขายหลากหลายส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ค้าจะนำของสวนที่ปลูกเองมาขาย โดยเดินทางมากับขบวนรถไฟ มีทั้งผักปลาผลไม้ และขนมไทย ฝีมือสุดยอดอร่อยมาก ฝีมือคนสมัยก่อนเลิศมาก อร่อยถูกสตางค์ แม่บอกว่าคุณยายจ่ายกับข้าวตลาดนี้ทุกวันทำอาหารเลี้ยงลูกๆมา"
เมื่อน้องถ้วยฟูมายืนอยู่จุดนี้แล้ว ขออนุญาตย้อนอดีตหน่อยนะคะ สถานีรถไฟธนบุรีเริ่มก่อสร้างในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ท่านเล็งเห็นในเรื่องการคมนาคม พสกนิกรจะได้เดินทางติดต่อกันได้สะดวกค่ะ พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำริที่จะสร้างทางรถไฟ สถานีรถไฟขึ้นให้เชื่อมต่อกันทั้งประเทศ เหนือใต้ออกตก พระองค์เห็นว่าสถานที่จะก่อตั้งสถานีรถไฟ ควรเป็นปากคลองบางกอกน้อยซึ่งเป็นที่ชาวอิสลามที่มาจากอยุธยา ครั้งกรุงแตกอพยพ มาตั้งถิ่นฐานที่ปากคลองบางกอกน้อย ท่านจึงพระราชทาน ที่ฝั่งตรงข้ามกัน ซึ่งอยู่ที่ปากคลองบางกอกน้อยเหมือนกันให้เป็นที่พักพิงใหม่ ริมคลองบางกอกน้อยขึ้นเป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียวหลังคาทรงจั่วมีหลังคาคลุมชานชาลาสร้างด้วยไม้ทั้งหลังตั้งอยู่ทางทิศใต้ริมรางรถไฟอยู่เลยลึกเข้ามา ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยอยู่ติดริมคลองบางกอกน้อยชื่อสถานีบางกอกน้อยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเสด็จมาเปิดในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2446 เป็นสถานีสายใต้และเปิดเดินรถครั้งแรกจากบางกอกน้อยปลายทางเพชรบุรี ถ้าใครอยากจะย้อนอดีตรถไฟสายแรก ถ้วยฟูเชิญชวนค่ะ มาขึ้นรถไฟได้ที่สถานีธนบุรีนะคะ
เริ่มก่อสร้างสถานีรถไฟ ในพ.ศ. 2485 นะคะ เกิดภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ประเทศเราต้องเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ด้วย ประเทศไทยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะด้วยความจำเป็นค่ะ ญี่ปุ่นได้ใช้ประเทศไทยเป็นหน่วยบัญชาการสงคราม ในภูมิภาคนี้เพื่อโจมตีพม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ โดยใช้รถไฟเป็นทางลำเลียงหลักของกองทัพ น้องถ้วยฟูอยากให้คุณผู้อ่านหลับตา นึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ย้อนเวลากันนะคะ สถานีรถไฟธนบุรีเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากๆเป็นเป้าหมายโจมตีของฝ่ายพันธมิตร ครั้นปลายสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2488 สถานีบางกอกน้อยถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักจากเครื่องบิน B 24 และ B 29 เสียหายอย่างหนักในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 เวลา 12.30 น. สถานีรถไฟบางกอกน้อยถูกระเบิดพังพินาศ เป็นไงคะ น้องถ้วยฟูเล่ามาถึงจุดนี้ได้ยินเสียงระเบิดตูมๆไหมคะ แรงระเบิดนำความเสียหายอย่างมากและถือว่าเป็นเสียงหวอเตือนภัยครั้งสุดท้ายในกรุงเทพก็ว่าได้หลังสงครามสิ้นสุดลงสิ่งที่พังทลายเสียหายก็ต้องกลับมาซ่อมแซมสร้างกันใหม่ สถานีรถไฟหลังใหม่ก็เกิดขึ้นผู้ที่ออกแบบแทนหลังเก่าคือหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ ท่านเป็นสถาปนิก โดยออกแบบให้มีหอนาฬิกาและก่อตัวอาคารด้วยอิฐแดง สวยงามมาก ตัวหอในการโดดเด่นงามสง่า มาจนทุกวันนี้นาฬิกาบอกเวลาทุกโมงยาม สมัยคุณแม่เป็นเด็กเวลาข้ามเรือ ก็จะดูเวลาจากหอนาฬิกานี้ อาคารหอนาฬิกานี้สร้างเสร็จในปีพ.ศ. 2493 ใช้ชื่อว่าสถานีรถไฟธนบุรีรถไฟสายใต้ทุกขบวนจะออกจากสถานีนี้เมื่อมีสะพานพระราม 6 ก็มีบางขบวนได้ย้ายไปออกที่หัวลำโพง ถึงกระนั้นก็ยังมีรถไฟที่วิ่งไปสายใต้อีกหลายขบวน มีทั้งรถธรรมดาและรถเร็ว สถานีธนบุรีคึกคักไปด้วยผู้คนและรถไฟที่เข้าออกสถานี นอกจากจะมีรถไฟสายใต้และยังมีรถไฟสายสุพรรณซึ่งออกจากธนบุรีไปสุพรรณบุรี และจากสุพรรณบุรีกลับมาธนบุรี ธนบุรีไปสถานีน้ำตก จากน้ำตกกลับมาธนบุรี สถานีธนบุรีคึกคักไปด้วยขบวนรถ และสถานีธนบุรีเป็นสถานีที่ใช้สัญญาณประจำที่ชนิดหางปลา แต่ในปัจจุบันได้หยุดใช้ เพราะไม่สัมพันธ์กับสถานีตลิ่งชัน
จากเก่าสู่ใหม่ เมื่อน้องถ้วยฟูเดินตามรางรถไฟมาถึงหน้าหลวงพ่อโบสถ์น้อย ยกมือวันทากราบไหว้ ขอพรท่านข้างหน้าหลวงพ่อโบสถ์น้อยแล้วจะกลับมากราบนมัสการด้านในโบสถ์ครั้งหน้า เมื่อมองกลับไปในพ.ศ. 2542 ในรัฐบาลนายกชวน หลีกภัย ได้มีการปรับปรุงสถานีใหม่โดยห่างจากสถานีเก่าประมาณ 0.866 กิโลเมตร แต่สถานีธนบุรีเดิมก็ยังเปิดจำหน่ายตั๋วและเปิดทำการปกติ ผู้โดยสารไม่สะดวกเกิดความยุ่งยากไม่ประสบความสำเร็จในโครงการนี้เกิดปัญหาอย่างมากจำให้ต้องหยุดในที่สุด
รัฐบาลพันตำรวจโททักษิณชินวัตรได้นำขบวนรถโดยสารกลับเข้ามาหยุดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีธนบุรีตามเดิม ความสะดวกก็กลับคืนมาอีกครั้ง หลังจากวุ่นวายมาระยะหนึ่ง สถานีรถไฟธนบุรีที่มีตัวอาคารที่สวยงามสง่าและผู้คนที่มากมายทั้งเดินทางใกล้ไกล ก็อาศัยรถไฟสถานีธนบุรี แต่ความทรงจำยังคงมีอยู่สถานีรถไฟธนบุรีไม่เป็นรองสถานีรถไฟไหนๆ
การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบที่ดินบริเวณสถานีรถไฟธนบุรีให้แก่คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชจำนวน 33 ไร่เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2546 จึงหยุดการเดินรถเป็นการถาวร ขบวนสุดท้ายที่ออกจากสถานีธนบุรี คือ ขบวน 253 ธนบุรี-หลังสวน ออกจากธนบุรีเวลา 19.10 ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2546 รางรถไฟมาแล้วนะคะ เห็นโรงรถจักรธนบุรีค่ะ วันนี้คงได้แต่ผ่านนะคะ มีถังสีดำๆ สูงๆ มากค่ะ ทั้งนี้เคยเป็นที่ให้น้ำหัวรถจักรไอน้ำค่ะ โรงรถจักรธนบุรีเป็นที่ซ่อมแซมรถจักรดีเซลที่สำคัญของการรถไฟและยังเป็นสถานที่บำรุงรักษารถจักรไอน้ำที่เหลืออยู่ของการรถไฟซึ่งยังคงใช้งานได้อีก 5 คันค่ะ ได้นำมาวิ่งลากจูง เป็นขบวนพิเศษในวันสำคัญต่างๆเป็นประจำค่ะ
น้องถ้วยฟูพาเดินผ่านมาถึงสถานีรถไฟธนบุรีปัจจุบันแล้วค่ะ น้องถ้วยฟูเห็นแล้วค่ะ เล็กกว่าสถานีเก่ามาก ความสง่างามไม่มีค่ะ ถูกลดบทบาทลงอย่างมากเป็นอาคารสร้างใหม่ก็จริง แต่เรียบง่ายมาก ด้วยกลับมาใช้ชื่อสถานีรถไฟธนบุรีในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 และได้ยกฐานะจากสถานีชั้น 4 มาเป็นสถานีชั้น 1 นะคะคุณผู้อ่าน แต่มีขบวนรถไปมาเมื่อเทียบกับสถานีธนบุรีเก่าที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา น้อยมากค่ะ มีขบวนที่ยังวิ่งอยู่ก็คือ ธนบุรี-ประจวบ ธนบุรี-หลังสวน ธนบุรี-น้ำตก ธนบุรี-ราชบุรี ธนบุรี-ศาลายาวิ่งไปและกลับ เป็นขบวนรถธรรมดาทั้งหมดค่ะ ส่วนขบวนรถเร็วธนบุรี-หลังสวนได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ค่ะ จากความเก่าที่ยิ่งใหญ่สู่ความใหม่ที่เล็กลงน้องถ้วยฟูอำลาด้วยความเศร้าค่ะ
|