หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสารสำหรับสังคมคนทำงานที่ดีที่สุด
สนใจติตต่อลงโฆษณา โทร. 094-554-6226
อีเมลล์ : workingsociety@hotmail.com

Main Menu


 

สถิติเว็บไซต์

 สถิติวันนี้ 4 คน
 สถิติเมื่อวาน 45 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
5 คน
5 คน
247927 คน
เริ่มเมื่อ 2010-06-28

Working Woman

 

ดร.สมหญิง  เปี่ยมสมบูรณ์
อธิบดีหญิงเหล็กแห่งกรมประมง

           ทันทีที่เปิดประตูเข้าไป ก็พบกับผู้หญิงร่างเล็ก ด้วยบุคลิกที่มุ่งมั่น แววตาที่ตั้งใจ น้ำเสียงที่ชัดเจน ทำให้เกิดความมั่นใจในการทำงานของ ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์  อธิบดีกรมประมง  ขึ้นมาในทันที
           ความมุ่งมั่นในชีวิตการทำงานดำเนินมายาวนานกว่า 30 ปี  ณ วันนี้...อธิบดีหญิงเหล็กแห่งกรมประมงได้บ่มเพาะประสบการณ์เพื่อบริหารงานและผลักดันโครงการในกรมประมงให้กับชาวไทยและประเทศไทย
           นับแต่นี้จะได้ใกล้ชิดกับอธิบดีกรมประมง เพื่อติดตามความก้าวหน้าและโครงการต่าง ๆ ที่ผู้หญิงเหล็กร่างเล็ก...ดร.สมหญิง  เปี่ยมสมบูรณ์ พิสูจน์ให้เห็นด้วยฝีมือ...

พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
 
          “จากการที่ประเทศไทยได้ลงนามความตกลงการค้าเสรี(เอฟ ที เอ)กับประเทศต่าง ๆ ซึ่งกำหนดประเทศคู่เจรจานะคะ เราก็ต้องลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ประมงลงค่ะ  ให้เหลือร้อยละศูนย์ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมานั้นได้ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าปลาสดและปลาแช่แข็งจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากเลยค่ะ  โดยมีปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าค่ะเมื่อเทียบกับปีก่อนเปิดเขตการค้าเสรี ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวประมง  และเกษตรกรที่เป็นผู้เพาะเลี้ยงปลาในประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดที่มีจำนวนกว่าสี่แสนรายเลยนะคะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาดเล็กค่ะ 
          ทำให้กรมประมงซึ่งอยู่ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  ทางเราจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องจัดทำโครงการรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขึ้นนะคะ ซึ่งในกรณีของสัตว์น้ำจืด มีระดับมาตรฐานฟาร์ม 2 ระดับค่ะ คือ ระดับแรกเป็นมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขั้นปลอดภัย และอีกระดับคือมาตรฐานการปฏิบัติทางการประมงที่ดีค่ะ
          ตอนนี้ปลาดิบดีเหมาะสำหรับการทำปลาดิบทางเราก็พยายามที่จะดูตลาดที่มั่นคงและแน่นอนค่ะ ทางเราจะส่งเสริมให้ผู้เพาะเลี้ยงมีมากขึ้น อาจจะต้องใช้เงินของกองทุนเกษตรมาช่วยในเบื้องต้น ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ และอีกอย่างเราอยากจะให้เปลี่ยนเครื่องมือการทำอวนลากไปทำเบ็ดราว  เรื่องทูน่าเราก็สามารถพัฒนากองเรือเราเองได้ ซึ่งเราก็ต้องทำต่อไปนะคะ “

การรณรงค์รับประทานปลาไทย
  
       “ทางกรมประมงมีการจัดโครงการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทย มีการบริโภคสัตว์น้ำที่ผลิตในประเทศ เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวประมงและเกษตรกรไทยด้วยค่ะ และช่วยตลาดสินค้าประมงภายในประเทศด้วยค่ะ
          ส่วนกรณีการนำเข้าสัตว์น้ำ กรมประมงก็ได้มีมาตรการควบคุมด้านสุขอนามัยด้วยนะคะ  ทางเราจะดูแลจัดการเรื่องนี้ โดยการสุ่มตรวจรับรองจากเจ้าหน้าที่ด่านของกรมประมงอย่างเข้มงวดค่ะ
          ซึ่งในปัจจุบันนี้มีผู้บริโภคบางกลุ่มหันมานิยมบริโภคปลานำเข้าจากต่างประเทศกันมากค่ะ เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน  ปลาเฮอร์ริ่ง และปลาอื่น ๆ อีกหลายชนิดเลย  ซึ่งเป็นปลาที่มีราคาค่อนข้างสูงนะคะ โดยมีความเชื่อว่าจะได้รับสารอาหารจำพวกโอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ในปริมาณที่สูง แต่ในข้อเท็จจริงแล้วนะคะ ปลาของไทยบางชนิดก็มีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวจำพวกโอเมก้า 3 ในปริมาณที่สูงเช่นเดียวกันค่ะ เช่น ปลาช่อน  ปลานวลจันทร์  เป็นปลาน้ำจืด  ส่วนปลากะพงขาว  ปลาทู  ปลาตาเดียว  เป็นปลาทะเลค่ะ  ซึ่งเราจะเห็นได้เลยนะคะว่าผู้บริโภคจะได้รับกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว จำพวกโอเมก้า 3   และสารอื่นๆ ในปริมาณที่ไม่แตกต่างจากการบริโภคปลาที่นำเข้าจากต่างประเทศมากนักนะคะ  และผู้บริโภคยังมั่นใจได้อีกว่า การบริโภคปลาในประเทศนั้น มีความปลอดภัยสูงอีกด้วย แถมทั้งยังสด และสะอาดด้วยนะคะ เพราะได้รับรองจากกรมประมงค่ะ  ส่วนการเลือกรับประทานปลาที่หาได้ภายในประเทศ นอกจากจะได้สารอาหารครบถ้วนแล้ว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ราคาก็ย่อมเยาด้วยนะคะ ทำให้มีสุขภาพดีแล้วยังเป็นการช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงไทยอีกทางหนึ่งด้วยค่ะ”

การบริหารในกรมประมง
 
          “กรมประมงเป็นกรมใหญ่มีหลายอย่างที่จะต้องดูแลค่ะ ทางเราจะเน้นเรื่องการให้บริการเกี่ยวกับการควบคุมและการบริหารงานต่าง ๆ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ในเรื่องส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่งเสริมอาชีพเกษตร   การประมง  รวมทั้งการควบคุมต้องมีกฎหมายควบคุม ทางกรมประมงก็ต้องควบคุมด้วยค่ะ ในขณะเดียวกันก็ต้องการความร่วมมือจากชุมชน เพื่อช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับกรมประมง และทางกรมประมงก็ยิ่งจะทำงานได้ดียิ่งขึ้นเมื่อเราได้รับความช่วยเหลือจากประชาชน   ซึ่งถ้าจะใช้แต่เรือปราบปรามอย่างเดียว ก็เสียงบประมาณ จึงเป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมประมงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนะคะ  ถึงจะทำได้สำเร็จ
 
           อีกเรื่องหนึ่งคือ ภายในกรมประมงของเราที่ผ่านมาก็ได้ทำงานกันอย่างเต็มที่และสร้างสรรค์งานกันมา ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี  และความจงรักภักดีต่อองค์กรกันมากและเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดมาค่ะ
          ส่วนสายงานบริหารก็ทำให้คนในกรมประมงมีโอกาสเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำดับค่ะ ซึ่งในเรื่องการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ก็ได้บริหารอย่างมีหลักเกณฑ์ และมีความยุติธรรมให้มากที่สุดด้วย ซึ่งเราใช้จุดนี้เป็นที่ตั้ง เชื่อได้เลยค่ะว่าพนักงานทุกคนในองค์กรก็เข้าใจตรงกันนะคะว่า การแต่งตั้งหรือเลื่อนตำแหน่งนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลผู้นั้น  ทำให้ภายในองค์กรเกิดความรู้สึกว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกันค่ะ ทำอะไรก็ทำอย่างมีเหตุมีผล  ไม่ว่าจะเป็นการให้โอกาสพนักงานทุกคน  รวมถึงการพัฒนาบุคลากร ที่สำคัญคือคนต้องทั้งเก่ง ทั้งดี  ทางเราก็มีการส่งเสริมด้วยการอบรม ประชุมและสัมมนา  หรืออาจเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศก็มีด้วยค่ะ
          โครงการวิจัยต่าง ๆ ก็มีทำกันอย่างต่อเนื่องค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการทำวิจัยของกรมประมงเอง หรือการทำโครงการวิจัยกับหน่วยงาน หรือองค์กรภายในประเทศ และต่างประเทศ  เราพยายามจะร่วมมือกันเพื่อเป็นการแชร์ประสบการณ์ด้วยค่ะ
         ที่ผ่านมากรมประมงของเราได้รับรางวัลดีเด่น การส่งเสริมความเสมอภาคทั้งหญิงและชายด้วยค่ะ จะเห็นได้ว่าเราทุกคนมีโอกาสตามความสามารถเท่ากันทุกคน ส่วนเป้าหมายปีนี้นะคะ คือการรณรงค์เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ทำให้มีปริมาณสัตว์น้ำเพียงพอกับการบริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศด้วย  อีกเรื่องคือการเพิ่มผลผลิตในแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยการเพาะเลี้ยงและทุกปีจะทำการปล่อยสัตว์น้ำลงสู่แหล่งน้ำ  ต่อมาเป็นเรื่องการเลี้ยงปลาทูน่าเป็นปลาเศรษฐกิจ  เป้าหมายอีกประการหนึ่งคือ การสร้างปะการังวางทั่วประเทศ เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพ  แต่ในระยะแรกจะวาง 10 กว่าแห่งก่อน เพราะการไม่ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ เป็นการเพิ่มผลผลิตอย่างหนึ่ง
         การบริหารทรัพยากรจัดการให้เกิดประโยชน์  พวกเราทุกคนต้องไม่ทำลายทรัพยากร ซึ่งทางกรมประมงของเราจะได้ช่วยในเรื่องนี้ คือ มีการออกมาตรการการปิดอ่าว ในช่วงเวลาฤดูปลาวางไข่  รวมถึงมาตรการต่าง ๆ อีกมากมายที่จัดเป็นมาตรการที่ช่วยรักษาทรัพยากรทางน้ำจืดและทางทะเลด้วยค่ะ
        ส่วนด้านฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็เป็นหน้าที่ของกรมประมงเช่นกัน ที่ต้องเข้าไปดูแล เช่น การเข้าไปตรวจตัวอย่างผลผลิตในฟาร์มเป็นแสน ๆ ตัวอย่างเลยนะคะ และนอกจากนั้นต้องควบคุมปลานิลให้ได้มาตรฐานเพื่อการส่งออกรวมถึงการวิจัยสัตว์น้ำตัวใหม่ ๆ ด้วยค่ะ เช่น ปลาม้า ปลาบู่ เพื่อเชิงพาณิชย์   ส่วนปลาทะเลที่เพาะเลี้ยงชายฝั่ง ที่มีราคาสูง ต้องทำให้เป็นปลาเศรษฐกิจ    มีปลาช่อนทะเล  เรามีความร่วมมือกับนอร์เวย์  มีสูตรอาหารทำให้โตเร็ว เนื้อดี พยายามดูตลาดอยู่ค่ะ
        งานวิจัยยังหยุดไม่ได้  ไม่ว่าเรื่องลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์น้ำ  เรื่องกุ้งทะเล ซึ่งเราส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ ก็มีการให้เอกชนนำกุ้งฟ้าหรือบลูแปซิฟืกมาเพาะเลี้ยง พร้อมทำการวิจัยศึกษาไปด้วย เพื่อให้กระจายตลาดในวันข้างหน้าได้ ซึ่งมาถึงวันนี้กรมประมงของเรานะคะก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ ก็อยากจะฝากให้คนไทยหันมาบริโภคทรัพยากรสัตว์น้ำที่ผลิตโดยคนไทยนะคะ  ส่วนหน้าที่ของกรมประมงก็จะทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังและต่อเนื่องตลอดไปค่ะ  “
        ฝากฝีมือผลงานแล้ว...แถมฝากให้บริโภคปลาสัญชาติไทยด้วยนะคะ

 

ดร.สมหญิง  เปี่ยมสมบูรณ์
อธิบดีกรมประมง

วันเกิด   13  กุมภาพันธ์  2494

ประวัติการศึกษา
2497-2508 โรงเรียนราชินี มัธยมศึกษาปีที่ 3
2509-2510 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 5
2511-2514 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์(เกียรตินิยม)
2518-2520 University of British Columbia, Canada
ปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ การประมง
2528-2535 Simon Fraser University, Canada
ปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์การประมง
2546-2547 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร   การป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน

ประวัติรับราชการ
2516-2518 นักวิเคราะห์งบประมาณตรี กองวิชาการสำนักงบประมาณ
2518-2521 เศรษฐกร 3 สำนักงานเลขานุการกรม
2521-2521 เศรษฐกร 4 สำนักงานเลขานุการกรม
2521-2525 เศรษฐกร 5 สำนักงานเลขานุการกรม
2525-2527 เศรษฐกร 6 สำนักงานเลขานุการกรม
2527-2535 เศรษฐกร 7 กองนโยบายและแผนงานประมง
2535-2537 ผู้เชี่ยวชาญการพิเศษด้านวิจัย กองนโยบายและแผนงานประมง
2537-2540 ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการประมง กองเศรษฐกิจการประมง
2540-2548 ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการประมง ราชการบริหารส่วนกลาง
2548-2550 รองอธิบดี(นักบริหาร 9) ราชการบริหารส่วนกลาง
ปัจจุบัน  อธิบดีกรมประมง  ราชการบริหารส่วนกลาง
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
5 ธันวาคม  2549   มหาวชิรมงกุฎ
5 ธันวาคม  2544   ประถมาภรณ์ช้างเผือก
5 ธันวาคม  2542   เหรียญจักรพรรดิมาลา
5 ธันวาคม  2541   ประถมาภรณ์มงกุฎไทย
5 ธันวาคม  2533   ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
5 ธันวาคม  2528   ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย
5 ธันวาคม  2526   ตริตาภรณ์ช้างเผือก
5 ธันวาคม  2522   ตริตาภรณ์มงกุฎไทย

 


 

Copyright (c) 2006 by workingsociety.com