พระสมเด็จเกษไชโย หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ วีรไทยใจกล้า ตุ๊กตาชาววัง โด่งดังจักสาน ถิ่นฐานทำกลอง เมืองสองพระนอน
อ่างทอง อุดมไปด้วยงานหัตถกรรม ไม่ว่าจะเป็นงานปั้นตุ๊กตาชาววัง การทำกลอง การทำอิฐดินเผา หรือการผลิตเครื่องจักสาน เป็นแหล่งกำเนิดเพลงพื้นบ้านลิเก เป็นจังหวัดบ้านเกิดของนายดอก นายทองแก้ว วีรชนคนกล้าในศึกบางระจัน และเต็มไปด้วยวัดที่มีความสวยงาม เราแวะนมัสการพระที่วัดไชโยวรวิหาร อำเภอไขโยกันเลย หรือมีอีกชื่อว่า วัดเกษไชโย ห่างจากอำเภออ่างทองประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่บนเส้นทางสายอ่างทอง-สิงห์บุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์สร้างมาแต่ครั้งใดไม่ปรากฏ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรีได้ขึ้นมาสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่ หรือหลวงพ่อโตไว้กลางแจ้ง องค์เป็นปูนขาวไม่ปิดทอง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ มานมัสการและโปรดเกล้า ฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นเมื่อ พ.ศ.2430 แต่แรงสั่นสะเทือนระหว่างการลงฐานพระวิหารทำให้องค์หลวงพ่อโตพังลงมาจึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่ตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร และพระราชทานนามว่า พระมหาพุทธพิมพ์ องค์หลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ในพระวิหารที่มีความสูงใหญ่สง่างามแปลกตากว่าวิหารแห่งอื่น ๆ มีคนมานมัสการมากมายอย่างไม่ขาดสาย มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 วันที่เราไปกันก็มีคนมานมัสการแน่นวัดกันเลยล่ะค่ะ ถัดไปเราแวะนมัสการพระนอนกลางแจ้ง วัดขุนอินทประมูล ประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่แห่งทุ่งโพธิ์ทอง ตำบลอินทประมูล วัดนี้เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่และยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาวถึง 50 เมตร (25 วา)เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหาร แต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไปเหลือแต่องค์พระตากแดด ตากฝนอยู่กลางแจ้งมานานนับเป็นร้อย ๆ ปี องค์พระพุทธรูปมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ สิงห์บุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน องค์พระนอนมีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็น น่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ได้เสด็จมาสักการะบูชา อาทิ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าหัว ฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ภายในบริเวณวัดขุนอินทประมูลยังมีซากโบราณสถาน วิหารหลวงพ่อขาว มีศาลรูปปั้นขุนอินทประมูลและโครงกระดูกมนุษย์ขุดพบในเขตวิหารพระพุทธไสยาสน์เมื่อปีพ.ศ.2541 ลักษณะนอนคว่ำหน้ามือและเท้ามัดไพล่อยู่ด้านหลัง เชื่อกันว่า เป็นโครงกระดูก ขุนอินทประมูล แต่บ้างก็ว่าไม่ใช่ ซึ่งตามประวัติเล่ากันว่า ท่านเป็นนายอากรผู้สร้างพระพุทธไสยาสน์ โดยยักยอกเอาเงินของหลวงมาสร้างเพื่อเป็นปูชนียสถาน ครั้นพระมหากษัตริย์ทรงทราบ รับสั่งถามว่าเอาเงินที่ไหนมาสร้าง ขุนอินทประมูลไม่ยอมบอกความจริงเพราะกลัวส่วนกุศลจะตกไปถึงองค์พระมหากษัตริย์จึงถูกเฆี่ยนจนตาย วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดขุนอินทประมูล เรารีบไปเที่ยวพระตำหนักคำหยาดกันดีกว่า กรมขุนพรพินิต (ขุนหลวงหาวัด หรือเจ้าฟ้าอุทุมพร) ทรงผนวชที่วัดโพธิ์ทองแล้วสร้างพระตำหนักแห่งนี้ขึ้นเพื่อจำพรรษาเนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสม ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นตัวพระตำหนักสร้างด้วยความสวยงาม พระราชดำริเดิมก็เปลี่ยนไป ด้วยทรงเห็นว่า ไม่น่าที่ขุนหลวงหาวัดจะทรงมีความคิดใหญ่โต สร้างที่ประทับชั่วคราวหรือที่มั่นในการต่อสู้ให้ดูสวยงามเช่นนี้ จึงทรงสันนิษฐานว่าพระตำหนักนี้คงจะสร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเพื่อเป็นที่ประทับแรม จากพระตำหนักคำหยาด เราไปต่อกันที่วัดอ่างทองวรวิหาร อยู่ข้างๆ ศาลาการจังหวัดอ่างทอง เดิมเป็นวัดเล็กๆ 2 วัด คือ วัดโพธิ์เงินและวัดโพธิ์ทองสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาในปีพ.ศ.2443 สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จทางชลมารคผ่านวัดทั้งสองนี้จึงโปรดฯ ให้รวมวัดสองวัดเป็นวัดเดียวกัน และพระราชทานนามว่า วัดอ่างทอง วัดนี้มีพระอุโบสถงดงาม มีพระเจดีย์ทรงระฆังประดับด้วยกระจกสีทองด้าน และหมู่กุฏิทรงไทย สร้างด้วยไม้สักงดงามเป็นสถาปัตยกรรมตามแบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เราไปเลือกซื้อตุ๊กตาชาววังที่เป็นฝีมือของชาวบ้านบางเสด็จ เข้าไปก็เห็นเรือนไทยทรงสูง อยู่ด้านหลังวัดท่าสุทธาวาส เดิมชื่อบ้านวัดตาลต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อบ้านบางเสด็จ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จ พระราชดำเนินพระราชทานความช่วยเหลือ แก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในปี พ.ศ.2518 ซึ่งสร้างความปลื้มปิติให้แก่ ราษฎรเป็นอันมาก เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ จึงเปลี่ยนชื่อบ้านวัดตาลเป็น บ้านบางเสด็จ โครงการตุ๊กตาชาววังที่บ้านบางเสด็จ เป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2519 เพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ราษฎร ภายในหมู่บ้านบางเสด็จนี้ นอกจากจะได้ชมความร่มรื่นและสวยงามมาก ๆ ของริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วนะ เรายังมาดูการปั้นตุ๊กตาชาววังที่สวยงดงามจากชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในละแวกนั้นได้อีกด้วย จัดรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ศูนย์ตุ๊กตาชาววังบ้านบางเสด็จ จัดให้สมาชิกมาสาธิตการปั้นตุ๊กตาชาววังพร้อมขายในราคาไม่แพงด้วยนะ พวกเราก็ซื้อกันมาเป็นของฝากจากทริปนี้ด้วย ใครอยากไปแบบพวกเราบ้างก็เชิญนะคะ ที่นี่เปิดทุกวัน ถึง 4 โมงเย็น โทร.035662995 ซื้อตุ๊กตาชาววังเสร็จก็มาซื้อกลอง ที่หมู่บ้านทำกลอง หลังตลาดป่าโมก ใช้ถนนสายในผ่านหน้าที่ทำการเทศบาลอำเภอป่าโมก ซึ่งขนานไปกับลำคลองชลประทาน ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ตลอดสองข้างทางจะเห็นร้านขายกลอง เป็นระยะ ๆ ชาวบ้านแพเริ่มผลิตกลองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2470 โดยจะเริ่มหลังฤดูเก็บเกี่ยว วัตถุดิบที่ใช้ทำกลอง ได้แก่ ไม้ฉำฉาเพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนที่สามารถขุดเนื้อไม้ได้ง่ายกับหนังวัว พวกเราก็ดูกรรมวิธีการทำกลอง ตั้งแต่เริ่มกลึงท่อนไม้เรื่อย ๆ ไปจนถึงขั้นตอนการขึ้นกลอง การฝังหมุด กลองที่ทำมีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงกลองขนาดใหญ่ เช่น กลองทัด เขาทำมีฝีมือมาก คุณภาพเยี่ยม ประณีต สวยงาม ซื้อเป็นของที่ระลึกกลับบ้านกันน่าดูเลย ที่สำคัญอย่าลืมผ่านหน้าบ้านกำนันหงส์ฟ้า หยดย้อย จะเห็นกลองยาวที่สุดในโลกตั้งอยู่ หน้ากลองกว้าง 36 นิ้ว 92 เซนติเมตร ยาว 7.6 เมตร ทำจากไม้จามจุรีต่อกัน 6 ท่อน สร้างเมื่อ พ.ศ.2537 ใช้เวลาสร้างประมาณ 1 ปี เงินหมดกระเป๋าแน่ มาที่หมู่บ้านจักสาน กันต่อ งานฝีมือจักสานที่โด่งดังเป็นฝีมือของชาวอำเภอโพธิ์ทองแทบทุกครัวเรือน ที่ตั้งบ้านเรือนเรียงรายอยู่ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในละแวกเดียวกัน มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มการผลิตเครื่องจักสาน เครื่องหวาย แหล่งหัตถกรรม เครื่องจักสาน สำคัญที่ขึ้นชื่อของจังหวัด คือ บ้านบางเจ้าฉ่า เ ป็นชุมชนที่มีมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านได้เคยร่วมกับชาวแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ และชาวบางระจัน สู้รบกับพม่า ณ บ้านบางระจัน โดยมีนายฉ่าเป็นผู้นำ ภายหลังสู้รบยุติแล้ว นายฉ่า ได้นำชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยถาวรขึ้นในชุมชนด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำน้อย แต่เดิมเรียกว่า บ้านสร้างสามเรือน เพราะเริ่มแรกมีเพียงสามหลังคาเรือนเท่านั้น ปัจจุบันมีชื่อว่า บางเจ้าฉ่า เพราะนำชื่อของนายฉ่ามาตั้งขื่อ ซึ่งนายฉ่าเป็นทั้งผู้นำและผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน ที่นี่เป็นแหล่งผลิตเครื่องจักสานด้วยไม้ไผ่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนและได้พระราชทานคำแนะนำให้ราษฎรปลูกไม้ไผ่สีสุก เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องจักสานและเป็นการอนุรักษ์งานฝีมือประเภทนี้ไว้ เครื่องจักสานด้วยไม้ไผ่ของที่นี่สวยประณีต ไม่ยึดติดกับรูปแบบเก่าจนสามารถส่งออกขายต่างประเทศได้ จนได้รับการยกย่องเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการพัฒนาอาชีพ ภายในหมู่บ้านมีพิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ไม้ไผ่ แสดงอุปกรณ์เครื่องใช้พื้นบ้านต่าง ๆ ที่ผลิตจากไม้ไผ่และมีเก็บรวบรวมเอาไว้ ที่สนุกมาก ๆ เพราะที่นี่มีรถอีแต๋น ไว้ให้บริการชมวิถีชีวิตริมแม่น้ำน้อยอีกด้วย แต่ต้องมาพักค้างสักคืนสองคืนถึงจะดีไม่น้อย เหลือไม่มากแล้วเวลาของวันนี้ เร็วเข้าไปต่อกันดีกว่าที่จังหวัดสิงห์บุรี เป็นจังหวัดสุดท้ายของการเดินทางกันดีกว่า เร็วขับซึ่งไปเลย...
|