หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสารสำหรับสังคมคนทำงานที่ดีที่สุด
สนใจติตต่อลงโฆษณา โทร. 094-554-6226
อีเมลล์ : workingsociety@hotmail.com

Main Menu


 

สถิติเว็บไซต์

 สถิติวันนี้ 8 คน
 สถิติเมื่อวาน 24 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
82 คน
82 คน
248004 คน
เริ่มเมื่อ 2010-06-28

ราชธานีเก่า  อู่ข้าวอู่น้ำ
เลิศล้ำกานต์กวี   คนดีศรีอยุธยา
 
  
     พระนครศรีอยุธยา  กว่า 417 ปีมาแล้วแห่งการเป็นราชธานีเก่าแก่ของสยามประเทศ ที่ประกอบด้วย 5 ราชวงศ์คือ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณบุรี ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททองและราชวงศ์บ้านพลูหลวง  มีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น 33 พระองค์ โดยมีปฐมกษัตริย์คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)
        พระนครศรีอยุธยาจึงนับเป็นราชธานีที่มีอายุยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และเป็นที่น่ายินดีที่องค์การ ยูเนสโก้ โดยคณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติรับนครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และเป็นพื้นที่ที่ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 ไว้ในบัญชี มรดกโลก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนีเซีย พร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย/อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย/อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
          ทราบประวัติแล้วก็น่าภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทยนะคะ เรามาถึงอยุธยาก็ต้องไปกราบไหว้บูชาพระ แวะเยี่ยมโบราณสถานที่มีอยู่มากมาย  รวมถึงพระราชวังในอยุธยามีอยู่ถึง 3 แห่ง คือ  พระราชวังหลวง  วังจันทรเกษมหรือวังหน้า และวังหลัง
          นอกจากนี้ยังมีวังและตำหนักนอกอำเภอพระนครศรีอยุธยา     ซึ่งเป็นที่สำหรับเสด็จประพาส  ได้แก่  พระราชวังบางปะอิน  ในเขตอำเภอบางปะอิน และตำหนักนครหลวง ในเขตอำเภอนครหลวง
         มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้  แม่น้ำป่าสักไหลผ่านทางทิศตะวันออก และแม่น้ำลพบุรี(ปัจจุบันเป็นคลองเมือง)ไหลผ่านทางด้านทิศเหนือ  แม่น้ำสามสายนี้ไหลมาบรรจบกันโอบล้อมรอบพื้นที่ของตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา  ตัวเมืองจึงมีลักษณะเป็นเกาะ  เราจะเห็นบ้านเรือนปลูกเรียงรายหนาแน่นตามสองข้างฝั่งแม่น้ำ แสดงให้เห็นว่าชีวิตของผู้คนที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำมายาวนาน
         รู้รายละเอียดภูมิประเทศของจังหวัดพระนครศรีอยุธยากันดีแล้ว  เรารีบไปแวะกราบไหว้พระกันดีกว่า ทีแรกเราแวะกันที่วัดไชยวัฒนาราม  สวยและงามมากค่ะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง  เป็นวัดที่พระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่ 24(พ.ศ.2173-2198) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2173 เป็นโบราณสถานที่งดงามมากค่ะ  วัดนี้เป็นที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์(เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลายกับเจ้าฟ้าสังวาล ซึ่งต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
         เดินชมไปภายในวัดก็มี พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ เป็นปรางค์ประธานของวัดตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส และที่มุมฐานมีปรางค์ทิศประจำอยู่ทั้งสี่มุม การที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งเป็นกษัตริย์สมัยอยุธยาตอนปลายทรงสร้างปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัด เท่ากับเป็นการรื้อฟื้นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นที่นิยมสร้างปรางค์เป็นประธานของวัด เช่น การสร้างปรางค์ที่วัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ เนื่องจากพระองค์ทรงได้เขมรมาอยู่ใต้อำนาจจึงมีการรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรเข้ามาใช้ในการก่อสร้างปรางค์อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีพระระเบียงรอบปรางค์ประธาน ภายในพระระเบียงมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ผนังระเบียงก่อด้วยอิฐถือปูน มีลูกกรงหลอกเป็นรูปลายกุดั่น  พระอุโบสถ อยู่ด้านหน้าของวัดภายในมีซากพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยหินทราย ใบเสมาของพระอุโบสถทำด้วยหินสีค่อนข้างเขียว จำหลักเป็นลายประจำยามและลายก้านขด และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ทางด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ 2 องค์ วัดไชยวัฒนารามได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478  บอกได้คำเดียวว่าไม่ควรพลาดชมเด็ดขาด ถ้ามาอยุธยาอย่าลืมมาแวะนะคะ เสียค่าเข้าชมคนไทยแค่ 10 บาท ถ้าพาฝรั่งมาด้วยค่าเข้าชม 50 บาท หรือจะซื้อบัตรแบบเพ็กเก็จเลยก็ได้นะ ชาวไทย 50 บาท ชาวต่างชาติ 220 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและโบราณสถานบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน ได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม และวัดไชยวัฒนาราม
 
        ที่พลาดไม่ได้เลย ก็วัดใหญ่ชัยมงคล วัดนี้ตามข้อมูลประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.1900 สำหรับเป็นสำนักของพระสงฆ์ซึ่งไปบวชเรียนมาแต่สำนักพระวันรัตน์มหาเถรในประเทศลังกา คณะสงฆ์ที่ไปศึกษาพระธรรมวินัยเรียกนามนิกายในภาษาไทยว่า”คณะป่าแก้ว” วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดคณะป่าแก้ว ต่อมาเรียกให้สั้นลงว่า ”วัดป่าแก้ว”  ต่อมาคนเลื่อมใสบวชเรียนพระสงฆ์นิกายนี้ พระราชาธิบดีจึงตั้งอธิบดีสงฆ์นิกายนี้เป็นสมเด็จพระวันรัตน์ มีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายขวา คู่กับพระพุทธโฆษาจารย์เป็นอธิบดีสงฆ์ฝ่ายคันถธุระมีตำแหน่งเป็นสังฆราชฝ่ายซ้าย หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดเจ้าพระยาไท” สันนิษฐานว่ามาจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่1 ทรงสร้างวัดป่าแก้วขึ้น ณ บริเวณที่ซึ่งได้ถวายพระเพลิงพระศพของเจ้าแก้วเจ้าไทหรืออาจมาจากการที่วัดนี้เป็นที่ประทับของพระสังฆราชฝ่ายขวา ซึ่งในสมัยโบราณเรียกพระสงฆ์ว่า “เจ้าไท ” ฉะนั้นเจ้าพระยาไทหมายถึงตำแหน่งพระสังฆราช
          ในปีพ.ศ.2135 เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นที่วัดนี้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ ขนานนามว่า “พระเจดีย์ชัยมงคล” แต่ราษฎรเรียกว่า “พระเจดีย์ใหญ่” นานวันเข้าวัดนี้จึงเรียกชื่อเป็น “วัดใหญ่ชัยมงคล”
         รีบๆ หน่อยเร็ว เราต้องเลี้ยวซ้ายไปวัดพนัญเชิงวรวิหารกันอีก ก็วัดนี้อยู่ที่ตำบลคลองสวนพลู ริมแม่น้ำป่าสักทางทิศใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง  วัดพนัญเชิงเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร แบบมหานิกาย เป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง   ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า   พระเจ้าสายน้ำผึ้งซึ่งครองเมืองอโยธายาเป็นผู้สร้างขึ้นตรงที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก และพระราชทานนามวัดว่า “วัดพระเจ้าพระนางเชิง”(หรือวัดพระนางเชิง)
          วัดนี้มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตามพงศาวดารกล่าวว่าสร้างเมื่อพ.ศ.1867 ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี เดิมชื่อ”พระพุทธเจ้าพนัญเชิง”(พระเจ้าพะแนงเชิง) แต่ในรัชกาลที่ 4 มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์นี้ได้พระราชทานนามใหม่ว่า”พระพุทธไตรรัตนนายก”(ชาวบ้านนิยมเรียกหลวงพ่อโต ชาวจีนนิยมเรียกว่า ซำปอกง ผู้คุ้มครองการเดินทางทางทะเล)
          มีเรื่องน่าอัศจรรย์ที่เล่ากันมาว่า เมื่อคราวพระนครศรีอยุธยาจะเสียกรุงแก่ข้าศึกนั้น พระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้าง ในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูป 5 องค์ ศิลปะสุโขทัย ภายในวัดพนัญเชิง จะมีตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เป็นที่เคารพนับถือชาวจีนทั่วไป
          ตอนนี้ได้สัมผัสชีวิตที่เป็นธรรมชาติ นิสัยใจคอของคนอยุธยาก็น่ารัก ทักทายปราศรัยด้วยน้ำจิตน้ำใจแสนดี  อาหารการกินก็ไม่แพง แถมพกมาด้วยความอร่อยซะด้วยซิ  ทริปนี้ยังอีกยาวต้องรีบไปกันต่อเร็ว วันเดียวเที่ยวได้หลายจังหวัดก็เป็นแบบนี่แหละค่ะ


                                               
 

 


 

Copyright (c) 2006 by workingsociety.com