พลเรือเอกกำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้พัฒนากองทัพเรือไทย
ตราบใดที่ราชอาณาจักรไทยมีธงไตรรงค์ปลิวไสวอยู่ ตราบนั้นกองทัพเรือไทยก็คงดำรงรักษาอธิปไตยเหนือน่านน้ำไทยตลอดไป เมื่อกองทัพเรือไทยมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องดูแลความมั่นคงของชาติเพื่อป้องกันราชอาณาจักรไทย ด้วยหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ทำให้ พลเรือเอกกำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ ทุ่มเทและมุ่งมั่นทำงานเพื่อชาติไทย เพื่อกองทัพเรือ ภารกิจของกองทัพเรือ นอกเหนือจากการเตรียมกำลังทางเรือ เพื่อป้องราชอาณาจักรแล้ว กองทัพเรือยังมีภารกิจที่ต้องดูแลในด้านการคุ้มครอง ปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ทั้งในด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 323.000 ตารางกิโลเมตร เทียบได้กับ 3 ใน 5 ของพื้นที่ทางบกของประเทศ ด้วยความรับผิดชอบต่อน่านน้ำไทยเป็นความมุ่งมั่นที่สืบทอดเจตนารมณ์ ดั่งคำปฏิญานตนที่ได้ให้ไว้ ซึ่งกองทัพเรือไทยก็ทำเต็มกำลังและความสามารถ แต่ความรับผิดชอบที่ต้องช่วยเหลือประชาชนในด้านอื่น ๆ ก็ยังคงดำเนินเคียงคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง ในยามสงบ กองทัพเรือยังมีบทบาทที่สำคัญอีกหลายประการ ซึ่งครอบคลุม ในหลายๆ ด้าน และมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น เช่น สนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพร ะราชดำริ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การรักษากฎหมายตามที่รัฐบาลมอบอำนาจให้ทหารเรือเป็นเจ้าหน้าที่รวม 28 ฉบับ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนและการพัฒนาประเทศ เป็นต้น การดำเนินงานที่ให้การช่วยเหลือประชาชน ทางกองทัพเรือได้กระทำอย่างเต็มความสามารถ และไม่เลือกปฏิบัติให้การดูแลอย่างทั่วถึงและในทุก ๆ เรื่อง ทั่วทั้งประเทศไทย อย่างกรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนยามเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ทางกองทัพเรือก็เร่งรุดช่วยเหลือประชาชนรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ทุกครั้งไป กองทัพเรือ จะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนมากที่สุด ยามใดเมื่อประสบภัยทางธรรมชาติ และเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่อ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งกองทัพเรือได้มีการจัดเรือและอากาศยานจากทัพเรือภาคที่ 1 ทัพเรือภาคที่ 2 และทัพเรือภาคที่ 3 ออกลาดตระเวนในพื้นที่รับผิดชอบทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง จึงทำให้มีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยได้ตลอดเวลา โดยเมื่อเกิดภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติอื่น ๆ ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากบ้าง น้อยบ้าง เมื่อนั้นกองทัพเรือก็จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยในโอกาสแรกทันทีที่เกิดภัยพิบัติขึ้น อาทิเช่น การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว และการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนเมื่อคราวเกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิ ในปลายปี พ.ศ.2546 ในการนี้ทางกองทัพเรือได้จัดกำลังพลพร้อมยุทโธปกรณ์เข้าไปให้การช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ทางกองทัพเรือก็ยังมีบทบาท ในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่เพื่อให้พื้นที่ที่ประสบภัยกลับคืนเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ทางกองทัพเรือมีการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านองค์บุคคลและองค์วัตถุที่จะให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ในทันทีที่เกิดเหตุการณ์หรือได้รับการร้องขอ ด้วยความจริงใจที่ผู้บริหารอย่าง พลเรือเอก กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ ตั้งมั่นที่จะพัฒนากองทัพและให้ความใส่ใจช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทย ทำให้วันนี้เกิดโครงการดี ๆ ขึ้นมากมาย กองทัพเรือ ได้ให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการที่กองทัพเรือได้ดำเนินการเอง โดยกองทัพเรือได้ดำเนินการในโครงการที่สำคัญต่าง ๆ หลายโครงการ อาทิเช่น การอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจที่กองทัพเรือได้สนองพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แล้วได้ขยายผลเป็น โครงการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งกองทัพเรือ และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพื้นที่เกาะแสมสารและเกาะใกล้เคียงบริเวณอ่าวสัตหีบ ตลอดจนจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย บริเวณเขาหมาจอ ตำบลแสมสาร รวมถึงการฟื้นฟูและปรับปรุงสภาพป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมในพื้นที่อื่นที่กองทัพเรือรับผิดชอบ อีกโครงการหนึ่งที่กองทัพเรือกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่อ่าวสัตหีบ หลังจากพบพะยูนปรากฏตัวบริเวณอ่าวสัตหีบ ดังนั้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์พะยูน จึงจำเป็นต้องฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารเพียงอย่างเดียวของพะยูน หากหญ้าทะเลหมดไปจากท้องทะเลก็จะทำให้พะยูนไม่มีแหล่งอาหารและค่อย ๆ ลดน้อยจนสูญพันธุ์ไปจากท้องทะเลไทย
ผลงานของกองทัพเรือมีให้ได้เห็นอยู่อย่างมากมายและเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงตลอดมา แต่ความร่วมมือที่เกิดขึ้นมิใช่เพียงแต่บุคลากรภายในกองทัพเท่านั้น ยังมีความร่วมมือที่เป็นพลังความสามัคคีที่เกิดจากหน่วยงานอื่น ๆ อีกมากมายที่มาเข้าร่วมทำงานเพื่อโครงการต่าง ๆ ซึ่งโครงการที่ร่วมมือกันนั้น นอกจากกองทัพเรือ ก็มีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กรมประมง ตลอดจนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการร่วมกันปกป้อง ดูแลทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และยังได้ประสานความร่วมมือกันจัดโครงการ ร่วมสร้างบ้านปลา ด้วยปะการังเทียม เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเห็นว่าการสร้างปะการังเทียมสามารถเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำได้ ดังนั้น จึงได้จัดทำเป็นโครงการเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในทะเล โดยดำเนินการสร้างที่อยู่อาศัยสัตว์ทะเลอย่างเป็นระบบ รวมทั้งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์ทะเลให้แพร่หลายต่อไป ความสำเร็จของกองทัพเรือในวันนี้ คือความสำเร็จของชาติด้วยเช่นกัน |