หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสารสำหรับสังคมคนทำงานที่ดีที่สุด
สนใจติตต่อลงโฆษณา โทร. 094-554-6226
อีเมลล์ : workingsociety@hotmail.com

Main Menu


 

สถิติเว็บไซต์

 สถิติวันนี้ 49 คน
 สถิติเมื่อวาน 39 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
451 คน
9728 คน
246398 คน
เริ่มเมื่อ 2010-06-28

พิสูตร  ยังเขียวสด
กับก้าวต่อไป
ของ
นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก(โจหลุยส์)
 

          หลังจากการแสดงจบ เสียงตบมือดังยาวนาน น้ำเสียงของผู้ชมทุกคนเอ่ยปากถึงการแสดงหุ่นละครเล็ก(โจหลุยส์)กันนักหนาว่า”เยี่ยม”ว่า”ยอด”ว่า”เก่งมาก”ว่า”ดีมาก”  ซึ่งทีมงานก็มิได้คิดเข้าข้างตัวเองว่า”ข้าแน่กว่าใคร” แต่กลับตอกย้ำลงไปอีกว่า “ยังมิใช่การยอมรับความสำเร็จ แต่เพียงนั้น...ยังคงต้องก้าวต่อไป...”
          พิสูตร  ยังเขียวสด หนึ่งในทายาทผู้ร่วมสืบสานหุ่นละครเล็ก(โจหลุยส์)  ยังคงมุ่งมั่นที่จะก้าวเดินต่อไป ๆ  ด้วยปรัชญาการทำงานที่ว่า “ทำงานด้วยหัวใจ แก้ไขด้วยเมตตา วาจาสุภาพชน”
          “จากที่เราตั้งโรงละครนาฏยศาลาได้ เราพยายามหาที่สร้างเราสร้างจนสำเร็จ เพราะรัฐบาลไม่ได้สร้างให้ การเป็นเอกชนเรารอไม่ได้ งานด้านวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย  ถึงแม้ว่าคนอื่นจะมองว่าศิลปะเป็นของฟุ่มเฟือย แต่ความฟุ่มเฟือยชิ้นนี้บ่งบอกถึงความเป็นไทย  เป็นตัวบอกว่าความเป็นไทยคืออะไร
          อันนี้ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่าน(สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) ทรงให้ความสนใจหุ่นละครเล็ก ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์  ทำให้เรากลับคืนมาอีกครั้ง  และสู้กับสังคมอันโหดร้ายได้อีกครั้งหนึ่ง  หลังจากนั้นคนไทยก็ให้ความนิยมให้การต้อนรับกับเรามากขึ้น ผลงานที่ผ่านมาทำให้หุ่นละครเล็กเล่นมาเรื่อยๆ ครับ 
          ขณะเดียวกันเราเองก็ปรับปรุงเรื่องโชว์ เพื่อให้คนรุ่นใหม่รับได้  เด็กสมัยนี้มักจะบอกว่างานที่เป็นศิลปวัฒนธรรมไทยน่าเบื่อ ดูแล้วอยากจะหลับ แต่ถ้าบอกมาดู โจหลุยส์  เด็ก ๆ จะอยากมาดู  เรามีแนวคิด เราทำวัฒนธรรมไทยก็จริง  แต่เราก็ปรับกลยุทธ์ให้เด็กรุ่นใหม่ดูได้  โดยที่เนื้อเรื่อง หรือ บทประพันธ์ หรือคำร้องทำนองผสมผสานได้ดี “

          บนถนนคนทำงานย่อมอยากจะสร้างสรรค์ให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้  ซึ่งทีมงานหุ่นละครเล็ก ก็เป็นเช่นนั้น
          “การทำงานของเรามีเป้าหมายและจุดไปที่เดียวกัน  ใช้สโลแกนที่ว่า  ทำงานด้วยหัวใจ แก้ไขด้วยเมตตา  วาจาสุภาพชน  อธิบายให้ทุกคนเข้าใจ ถ้าทุกคนมีตรงนี้ ทุกคนก็จะมีประสิทธิภาพสูงได้ ขอให้มีตรงนี้ก่อน  เริ่มอธิบายละเอียดขึ้น ตรงนี้คืออะไร พอทุกคนเข้าใจ ทุกคนก็จะให้ความสนใจ พูดจากันเพราะ และตั้งใจทำงานกันครับ”
          ผลงานที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเสมอมา แต่ทุกครั้งก็ใช่ว่างานจะผ่านไปแบบโรยด้วยกลีบกุหลาบ
         “การแสดงของเรามีเทคนิคเยอะมาก มีคิวเป็นร้อย ๆ คิว  แค่อะไรพลาดนิดหนึ่งนะครับ ทำให้ขบวนการเดินทางก็เสียรูปแล้ว เรียกว่าแกว่งแล้ว  คนที่อยู่บนเวทีต้องแก้ปัญหากัน ต้องมีประสบการณ์ที่มาช่วย ถ้าเกิดว่าถึงจุดนี้แล้วมันไม่ออกมาอย่างที่คิดนะครับ  เขาต้องแก้ได้ที่ไม่ให้คนดูรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น  คือวิธีของการแสดงโดยทั่วไปทำแบบนี้  เด็กจะรู้มั้ยว่าเวลาเกิดปัญหาจะแก้อย่างไร เราจะสอนเด็ก  ถ้าเกิดขึ้นสมมุติว่า 3 แบบ แบบที่ 1 แก้แบบนี้  แบบที่ 2 แก้แบบนี้  แบบที่ 3  ก็แก้อีกแบบ เด็กจะเข้าใจ  เด็กเขาจะกลัวความผิดพลาด เขาจะตรวจเช็คของทุกอย่าง
          ก่อนการแสดงเด็ก ๆ เขาจะไม่ให้ใครมายุ่ง  ไม่ว่าจะเป็นหุ่น ฉาก เทคนิค เขาจะวางนิ่ง  เขาจะนั่งสมาธิกันก่อน ให้จิตกลับมาอยู่ที่ตัวเอง  มีสมาธิเวลาทำงานกันครับ
          พอ 5 นาทีปุ๊บ พอเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้นปุ๊บ ทุกคนจะสแตนบาย ทุกคนลืมทุกอย่างไว้ที่บ้านครับ ลืมทุกอย่างที่มันวุ่นวายออก   จิตจะอยู่ที่การแสดง  การแสดงจะเนี้ยบ ตั้งใจทำงาน
         หัวใจมาก่อนเลยครับ ถ้าหัวใจไม่ได้ ทำอะไรก็ทำไม่ได้  งานก็ไม่สวย การทำงานเข้ม พูดจากันมากขึ้น            อยู่ด้วยกันมากขึ้น  ซ้อมมากขึ้น  จังหวะอะไรมากขึ้น  คนอื่นเขาทำกัน ซ่อมกัน 10 วัน ของเราประมาณ 10 เท่าเลยครับ ของเรากว่าจะได้งานออกมา  งานจะหนัก
         อย่างคนสร้างหุ่นที่ผ่านมานะครับ พอเราส่งขึ้นเวทีแล้ว  ถ้ามันนิ่งแล้ว ไม่ต้องมีแก้ไข  ต้องมาเบรนสตอมโชว์ใหม่  ต้องทำก่อนหนึ่งถึง สองปี ใช้เวลามากครับ  กว่าจะคิดจบเรื่อง 3-4 เดือนแล้ว  ต้องถอดจากคำพูดมาเป็นกระดาษ   มาเป็นชิ้นงานก็ใช้เวลาเป็นปี ๆ เลยนะครับ”
          ผลงานต่อไปก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง  คงสร้างสรรค์กันอย่างเต็มกำลัง ในการก้าวเดินไปอย่างมีจุดหมาย...
        “เรื่องใหม่ที่ดูกันไว้ก็มี 2-3 เรื่อง มีครุฑยุดนาค มียกยอช่อฟ้า  ซึ่งคนไทยเคยได้ยินแต่ชื่อ เห็นตราครุฑในหนังสือราชการ แต่ไม่เคยรู้ว่าครุฑคือใคร  มีพี่น้องกี่คน ทำไมครุฑถึงเป็นเครื่องตราของพระมหากษัตริย์และสำคัญกับประเทศไทยมากแค่ไหน
         เราก็อยากหยิบยกมาให้คนไทยได้รับทราบ  จะได้ทราบว่าครุฑยิ่งใหญ่ขนาดไหน  ซึ่งทุกวันนี้เราอยู่ใกล้ครุฑ แต่เราไม่ทราบว่าครุฑเป็นมาอย่างไร  ครุฑอยู่ในหนังสือ อยู่ในแสตมป์ใกล้ตัวเรา  ไม่รู้ว่าครุฑสำคัญขนาดไหน  ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราช เป็นอะไรที่บอกถึงความเป็นไทยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ 
         มีทีมพวกเราต้องศึกษาข้อมูลเยอะมากครับ จะเล่นอะไรจะต้องรู้จริง ต้องศึกษามาก อย่างที่เรื่องที่ผ่านไปแล้ว เช่นคนสร้างหุ่น เรื่องของครูแกร ศัพทวณิช  ทีมพวกเราต้องค้นหาจากหนังสือ สอบถามจากทุกคน นำความจริงที่ได้มาเรียงร้อย  พอขึ้นโชว์บนเวที ครีเอทีฟต้องนั่งดู เห็นข้อบกพร่องต่าง ๆ หรือเรื่องดนตรี ดูทุกอย่างจนสมบูรณ์ “
         ความสำเร็จที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวไทย ยังไม่ถือเป็นความสำเร็จ...แต่ยังคงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของทีมงานหุ่นละครเล็ก(โจหลุยส์)เท่านั้น ซึ่งพวกเขาก็ยังคงเดินหน้าต่อไปอีกอย่างไม่หยุดยั้งและไม่เหน็ดเหนื่อย
         “รางวัลต่าง ๆ ที่เราได้มา ยังไม่ถือเป็นความสำเร็จ เป็นแค่เครื่องการันตีเฉยๆ ว่าเราได้สร้างผลงาน  ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่รางวัล ความสำเร็จอยู่ที่ว่าคนไทยให้การตอบรับหรือฝรั่งมาชมการแสดงมากแค่ไหน  ทำทุกวันนี้ก็พออยู่ได้
          ถามว่าถึงจุดที่พอใจ ก็ใช่นะครับ แต่ยังคงต้องก้าวต่อไปอีกเยอะ เพราะว่าเป็นการเริ่มต้นมากกว่า ใช้เวลานานกว่าจะก้าวทีละก้าวมันใช้เวลานานเรื่องของวัฒนธรรมไทย เราก็เจอปัญหาอะไรมากมาย นี่ถือว่าเป็นก้าวที่ 2 แล้วครับ ก้าวที่ 3 เรามองว่าเราอยากจัดงานเทศกาลหุ่นโลกที่เมืองไทย
          เราพยายามไม่ได้เป็นก้าวของโจหลุยส์แล้ว เป็นก้าวของประเทศไทย  อยากให้โลกหันมาดูเมืองไทยว่าเมืองไทยมีคณะหุ่นหลายคณะที่ดี อยากให้โลกยอมรับว่าเราสามารถจัดเทศกาลหุ่นโลกได้ เพื่อจะได้ดึงนักท่องเที่ยว นักแสดงหุ่นทั่วโลกมาที่บ้านเรา นี่...เป็นก้าวที่สามที่เราฝัน...อยากทำอะไรให้กับประเทศไทย ถือเป็นก้าวที่สำคัญ ถ้าทำตรงนี้ได้ ก้าวที่สี่จะบอกเลยเราคือผู้นำแห่งเอเชียได้ในเรื่องวัฒนธรรม อยากได้ความร่วมมือจากรัฐบาลไทย สมาคมการท่องเที่ยว สมาคมการโรงแรม สายการบินไทย กระทรวงการต่างประเทศ
          ถ้าเราทำได้เราก็เป็นเอเชียประเทศแรก แต่ตอนนี้เราโจหลุยส์เป็นคนริเริ่มเข้าไปคุยกับรัฐบาล กับผู้ใหญ่บางท่านรอแค่ตามงานไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่งที่จะได้คำตอบว่าได้หรือไม่ได้ ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น  ถ้าเราทำได้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ทั่วโลกอยากจะมา เป็นประเทศที่เรามีความสามารถเรื่องหุ่นด้วย ของเราก็ไม่น้อยหน้าใครในโลก
          เราพยายามอยากให้คนไทย ได้เห็นงานหลากหลาย บางคนอยู่ต่างจังหวัด ไม่ว่าเชียงใหม่ ภูเก็ต  เหนือ ใต้ ออก ตก ทุก ๆ จังหวัดในไทยนะครับ อยากจะกระจายงานเราให้ออกไปต่างจังหวัดด้วย  ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวด้วย ทำให้ภาพลักษณ์เมืองไทยโดดเด่นขึ้น  ทุกคณะเขามาก็จะมีสื่อมวลชนเข้ามาด้วย  เป็นข้อดีของเมืองไทยนะครับ  ทำให้ได้ก้าวไปอีกก้าวหนึ่ง “

          ก้าวต่อไปที่ได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยมุ่งสู่ดินแดนการท่องเที่ยวของภาคตะวันออก ก็เป็นการกระจายความสำเร็จออกไปยังต่างถิ่นบ้าง
         “เราเปิดนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก(โจหลุยส์) ไทยเรสเทอรองต์ เป็นภัตตาคารอาหารไทยครับ เป็นทิพยสถานแห่งพัทยาใต้ ที่นั่นเป็นป่าหิมพานต์ มีน้ำตก 3 ชั้น มีสัตว์ป่าหิมพานต์เคลื่อนไหวได้ในแต่ละโชว์  มีการแสดงชมฟรีนะครับ มีอาหารคาวหวานนานาชนิด เป็นอีกแบบหนึ่ง งานสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ท่ามกลาง แสง สี เสียง ที่สวยงามครับ อยากให้ไปชมแล้วจะบอกว่า ประเทศไทยมีอย่างนี้อยู่นะ
         บางคนมองว่าเรามาโชว์ฟรี  เรามาทำเป็นชุด ๆ อยากให้ฝรั่งรู้ว่าประเทศไทยมีอะไรด้วย  เราเปิดจนกระทั่งฝรั่งยอมรับ ฝรั่งเข้ามาดูให้เกียรติพวกเรามาก ไม่คิดว่า พัทยา ประเทศไทยจะมีอย่างนี้   เขาดีใจมากที่มาพัทยาแล้วมีสถานที่ที่สวยงาม แล้วก็นั่งสบายด้วย”
         ความเป็นไทยจะยืนยงอยู่ได้ก็เพราะคนไทยเท่านั้น ที่ช่วยกันถ่ายทอดและสานต่อการรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยไว้ด้วยชีวิต
         “อยากจะฝากคนไทยว่าศิลปวัฒนธรรมเป็นของคนไทยทุกคน ถ้าคนไทยไม่รักษาหรือไม่ดูแล  แค่นั่งเฉย ๆ วัฒนธรรมก็ตายแล้ว เพราะฉะนั้นลุกออกมาให้ความสนใจ มาดู มาบริจาค ไม่ใช่แต่เฉพาะหุ่นละครเล็ก(โจหลุยส์)  วัฒนธรรมทุกอย่างอย่านั่งดูเฉย อย่าแค่ฟังอย่างเดียว จะไม่เกิดอะไรเลย จะตายไปเรื่อย ๆ
         ตัววัฒนธรรมพยายามจะบอกว่าต้องการ คนฟังก็นั่งฟังไม่ตอบสนอง ตรงนี้น่ากลัว อยากให้ได้ยินอะไรที่เป็นวัฒนธรรม  ลุกขึ้นมาดูว่าอะไร   มาช่วยกันอนุรักษ์   สิ่งที่จะบอกความเป็นไทยได้ตอนนี้  คือ  วัฒนธรรมไทย... อะไรที่จะบ่งบอกความเป็นไทย”
         นับว่าก้าวแต่ละก้าวของ “นาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก(โจหลุยส์)เป็นการก้าวไปอย่างมั่นคงและแข็งแกร่งทุกๆ วันความสำเร็จจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา  บ่มเพาะให้ศิลปวัฒนธรรมไทยอยู่คู่ชาติไทยนานเท่านาน

 

 


 

Copyright (c) 2006 by workingsociety.com