หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสารสำหรับสังคมคนทำงานที่ดีที่สุด
สนใจติตต่อลงโฆษณา โทร. 094-554-6226
อีเมลล์ : workingsociety@hotmail.com

Main Menu


 

สถิติเว็บไซต์

 สถิติวันนี้ 8 คน
 สถิติเมื่อวาน 24 คน
 สถิติเดือนนี้
สถิติปีนี้
สถิติทั้งหมด
82 คน
82 คน
248004 คน
เริ่มเมื่อ 2010-06-28

 รัตติยะ  วิกสิตพงศ์
ศิลปินแห่งชาติ...นาฏศิลป์ในสายเลือด



กว่า 6 ทศวรรษมาแล้วที่คุณครูยะ..รัตติยะ วิกสิตพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง 
(นาฏศิลป์ไทย) ประจำปี พ.ศ.2560 และครูผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย ยังคงถ่ายทอดความรู้ด้านนาฏศิลป์ไทยให้แก่ลูกศิษย์จากรุ่นสู่รุ่นมาตลอด ทำด้วยใจที่รักและด้วยจิตวิญญาณของการเป็นครูนาฏศิลป์ที่ฝังแน่น
อยู่ในสายเลือด

“ เริ่มมาเข้าเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลปในปี พ.ศ.2492 เรียนตั้งแต่ชั้น ม.1 จนจบชั้นกลาง 3 แล้วต่อในระดับชั้นสูง เรียนทั้งหมด 11 ปี (ม.1-6,กลาง 1-3 และสูง 1-2)
ตอนที่เรียนชั้นกลาง 1-2 ได้สอบเป็นศิลปินสำรอง ซึ่งเด็ก ๆ ที่มีแววจะได้เป็นศิลปินสำรอง จะมีเงินเดือนให้ เริ่มตั้งแต่ 15 บาท แล้วก็ปรับเพิ่มขึ้นจนเป็น 45 บาท มีการสอบเป็นศิลปินจัตวา พอจบชั้นกลาง 3 ได้เงิน 350 บาท แล้วปรับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึง 600 บาท
พอจบปริญญาตรีในปี พ.ศ.2503 สอบบรรจุได้เป็นชั้นตรีที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ได้เงินเดือน 750 บาท 850 บาท และ 900 บาท ก็เยอะมากในสมัยนั้นนะคะ ซึ่งเงินเดือนสามารถให้พ่อแม่ได้เลยค่ะ
จากนักเรียน จนมาเป็นครู ก็อยู่ที่กรมศิลปากรมาตลอด ทำงานที่นี่ไม่ได้ไปไหนเลย ร่วม 60 ปีได้แล้วค่ะ จะเรียกว่าเป็นลูกหม้อของที่นี่ (กรมศิลปากร) ก็ว่าได้ ลูกศิษย์กี่รุ่น ๆ ก็ผ่านหน้าเรา จะมีทั้งที่สอนประจำและสอนตามชั้นต่าง ๆ ด้วย”

ซึ่งคำพูดที่ว่า “นาฏศิลป์ในสายเลือด” ดูจะเหมาะและมีแววที่ฉายชัด เพราะเมื่อคราใดที่มีเสียงเพลง เด็กน้อยคนนี้จะต้องออกท่าออกทางตั้งท่ารำในทันที

“สมัยก่อนมีรำวง รำโทน ตอนเป็นเด็ก ๆ ก็จะลุกขึ้นรำวง คุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยาย ก็เห็นแววเรามาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ว่าชอบเรื่องรำ ซึ่งคุณแม่เห็นลูกสาวชอบทางด้านรำ 
พอหลังจากจบม.1 ที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ก็เลยให้มาเรียนทางด้านนาฏศิลป์ดีกว่า พอดีมีอาจารย์พินิจ สุวรรณบุญ ศิลปินแห่งชาติ ของกรมศิลปากรในสมัยนั้นนะคะ ได้แนะนำให้มาเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป ก็เลยมาเรียน ม.1 ซ้ำที่โรงเรียนนาฏศิลปใหม่”

จากวันที่เด็กน้อยเดินทาง เข้ามาสู่รั้วโรงเรียนนาฏศิลป (ในสมัยนั้น) มาเป็นนักเรียน จนเปลี่ยนมาเป็นผู้สอน และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฎศิลป์ ร่วม 60 ปีมาแล้ว คุณครูยะ...รัตติยะ วิกสิตพงศ์  ก็ยังคงจดจำและถ่ายทอดเรื่องราวในครานั้นด้วยความทรงจำที่งดงาม และด้วยน้ำเสียงที่มีความสุข

“เรียนที่โรงเรียนนาฏศิลปมานาน 11 ปี ได้รับการดูแลและได้รับการสนับสนุนจากบรมครู แม่ลมุล ยมะคุปต์ แม่เฉลย ศุขวานิช แม่มัลลี คงประภัสร์ ครูผัน โมรากุล และครูมาลี ที่วางรากฐานมาตั้งแต่เล็ก ๆ เลย
ต่อมาก็ครูสะอาด แสงสว่าง ครูศิริพร มหากนก ครูสุวรรณี ชลานุเคราะห์ ครูศิริวัฒน์ ดิษยนันท์ บรมครูเป็นผู้วางรากฐานมาทั้งหมด ซึ่งในสมัยก่อนนั้นผู้หญิงเล่นได้ทั้งโขนและละครเลยนะคะ ตอนแสดงโขน ก็แสดงเป็นพระรามตามกวาง เป็นพระพรต แสดงที่โรงละครแห่งชาติ ในสมัยนั้นท่านอธิบดีธนิต อยู่โพธิ์ เป็นอธิบดีกรมศิลปากร
ที่เข้ามาเรียนตอนเป็นนักเรียนก็เริ่มเป็นตัวพระก่อน แต่พอเรียนมาถึงชั้นกลาง 3 ต้องมีการฝึกสอนในโรงเรียนนาฏศิลป (วิทยาลัยนาฏศิลป) คือเราต้องสอนได้ทั้งตัวพระและตัวนาง พอจบสูง 2 ได้ไปฝึกสอนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
จากนั้นพอเรียนจบก็ได้สอบบรรจุเป็นข้าราชการชั้นตรี ตอนแรกย้ายไปกินตำแหน่งที่สำนักการสังคีต เมื่อก่อนเรียกกองการสังคีต อยู่ได้ 1 ปี ก็มาบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนนาฏศิลป สอนนาฏศิลป์ด้านปฏิบัติ เป็นครูอยู่ที่นี่ (โรงเรียนนาฏศิลป) ตลอดมา
แล้วก็มาเรียนเพิ่มวิทยฐานะตัวเอง เพิ่มวุฒิเป็นปริญญาตรี ในปี พ.ศ.2524  โดยเรียนเพิ่มนอกเวลา ซึ่งสมัยนั้นได้รับความเมตตาจากท่านอาจารย์ปราณี สำราญวงศ์ เป็นคณบดีที่ดูแลในระดับปริญญาตรี
ได้สืบทอดเป็นครุทายาท จากเป็นเด็กของวังสวนกุหลาบมา ได้รับการถ่ายทอดจากบรมครู  เรียนรู้ ฝึกฝน มุ่งมั่นในสายนาฏศิลป์ตลอดมาค่ะ จากเป็นคุณครู แล้วได้มาเป็นหัวหน้าภาคนาฏศิลป์ไทย เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนนาฏศิลป แล้วมาเป็นคณบดี ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ที่สืบทอดจากอาจารย์ปราณี สำราญวงศ์ และได้ทำการสอนให้กับสถาบันต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ราชภัฏต่าง ๆ พาณิชย์พระนคร และสถานศึกษาตามสังกัดของกรมศิลปากร อีก 13 แห่ง เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป และท้ายสุดเป็นผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์”

การเป็นผู้ถ่ายทอดพร้อมกับสืบสานงานด้านนาฏศิลป์เพื่อคงรักษาศิลปวัฒนธธรรมไว้เพื่อเป็นมรดกของชาติไทย นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ

“ได้ทำงานถวายตามที่พระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชเสาวนี ปฎิบัติงานโขนพระราชทานมา 10 ปี ในปีแรกได้รับเหรียญพระราชทาน เป็นเหรียญทองคำจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ ในรัชกาลที่ 9 รู้สึกเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้  เป็นความรู้สึกที่ภาคภูมิใจมากเป็นที่สุด”

ผลงานแห่งความสำเร็จของบรมครูที่ชื่อคุณครูยะ...รัตติยะ วิกสิตพงศ์ ได้ถูกบ่มเพาะมาอย่างยาวนานในงานด้านนาฏศิลป์ ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท ทำงานด้วยความรักความผูกพัน ถือได้ว่ามีความเป็นนาฏศิลป์ในสายเลือด และแล้วความสำเร็จที่สร้างสมมาก็ปรากฏเด่นชัด จนได้รับคัดเลือกรับรางวัลให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านนาฏศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2560

“ตื่นตันใจ  รู้สึกภูมิใจมาก เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะได้รับเกียรติสูงสุดจากคณะกรรมการ และจากผู้บังคับบัญชาที่เสนอความดีความชอบ ทำให้คณะกรรมการในศิลปินแห่งชาติพิจารณา และได้รับการเสนอชื่อให้ได้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านนาฏศิลป์ไทย
รู้สึกหัวใจพองโตดีใจมากที่สุด เป็นความประทับใจที่หาที่สุดมิได้ เป็นความภาคภูมิใจต่อตัวเองและวงศ์ตระกูลด้วย อันนี้ต้องเรียกว่า ผลที่เรากตัญญูต่อครูบาอาจารย์ และเราได้สืบทอดศิลปวัฒนธรรมสู่ลูกศิษย์จากรุ่นสู่รุ่น ที่เห็นได้ชัดคือไม่ใช่แต่ลูกศิษย์ในวงการนาฏศิลป์ของเราเท่านั้น ยังถึงลูกศิษย์ข้างนอกของโรงเรียนอื่น ๆ ของกรมสามัญศึกษา กรมอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เราชื่นใจมากที่สุดที่เราได้สืบทอดให้เยาวชนจากรุ่นสู่รุ่นได้สนใจในศิลปะและนาฏศิลป์ไทย และปฏิญาณเอาไว้ จะปฏิบัติตนเหมือนเดิมและจะสืบทอดตลอดไป จนกว่าชีวิตจะหาไม่”

ซึ่งคุณครูยะ...รัตติยะ วิกสิตพงศ์ ในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฎศิลป์ไทย) ประจำปี พ.ศ.2560 และครูผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทย ได้ฝากถึงเยาวชนทุกคนให้รักและใส่ใจในศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อสืบสานและคงคุณค่าของความเป็นไทยและชาติไทย

“อยากจะเห็นเยาวชนรุ่นหลัง ๆ ได้สนใจและใส่ใจในศิลปวัฒนธรรมของไทยเรานะคะ เพราะว่าเราเป็นคนไทย  แล้วก็เป็นศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านดนตรีหรือนาฏศิลป์ อยากเชิญชวนให้เยาวชนได้มาสนใจ สนับสนุนและส่งเสริมในด้านศิลปวัฒนธรรมของเราให้สืบต่อไป เรียกว่าเป็นยอดศิลปะที่บรมครูได้มอบให้กับเราได้สืบทอด ได้อนุรักษ์และช่วยกันเชิดชูประเทศไทยต่อไปในภายภาคหน้า”

เพื่อศิลปวัฒนธรรมของไทยจะคงอยู่ตลอดไป


 


 

Copyright (c) 2006 by workingsociety.com