เรือพระราชทานเวชพาหน์ เรือแห่งศรัทธาของประชาชน
"เวชพาหน์"นำพาหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บรรเทาทุกข์รักษาพยาบาลทางน้ำฟรีประชาชนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
แพทย์หญิง วรางคณา ทองคำใส ประธานโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เรือพระราชทานเวชพาหน์ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์สภากาชาดไทย เล่าถึงเรือพระราชทานเวชพาหน์ว่าเป็นเรือไม้ 2 ชั้น ขนาดกว้าง 3.81 เมตร ยาว 15.69 เมตร สูงประมาณ 3.75 เมตร กินน้ำลึก 1.20 เมตร เครื่องยนต์ดีเชล 200 แรงม้า เครื่องยี่ห้อโตโยตา 6 สูบ ความเร็วเรือ 22 น็อตต่อชั่วโมง บรรทุกผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ประจำเรือได้ 30 คน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทอู่เรือกรุงเทพฯ จำกัดต่อเรือขี้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บรรเทาทุกข์และรักษาประชาชนโดยไม่คิดมูลค่าใดๆและพระราชทานให้เมื่อ พ.ศ.2498
ชั้นบนของตัวเรือเป็นโถงโล่งใช้เป็นที่พักผ่อนเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ ชั้นล่างประกอบด้วยห้องตรวจรักษาโรคทั่วไป ห้องทันตกรรม ห้องผ่าตัดเล็ก ห้องนอนเจ้าหน้าที่ประจำเรือ ห้องสุขา ห้องน้ำ ห้องครัว และห้องเครื่องยนต์ สำนักพระราชวังได้จดทะเบียน เวชพาหน์ เป็นเรือยนต์หลวงและให้อยู่ในความดูแลรักษาของฝ่ายเรือยนต์หลวง กองพระราชพาหนะ สำนักพระราชวัง จัดเจ้าหน้าที่ประจำเรือในการนำออกปฏิบัติงานตามที่สภากาชาดไทยกำหนดแจ้งขอเป็นครั้งคราว
เรือพระราชทานเวชพาหน์ ปฏิบัตงานครั้งแรกเมื่อวันที่19 มกราคม - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 ที่จังหวัดนนทบุรีเมื่อวันที่ 2 - 6 ตุลาคม พ.ศ.2560 ที่จังหวัดปทุมธานี โดยปฏิบัตงานรวมทั้งสิ้น 152 ครั้ง ใน 19 จังหวัด ได้แก่จังหวัดนนทบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร สุมทรสาคร ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี กาญจนบุรี ลพบุรี อ่างทอง ราชบุรี ปทุมธานี สมุทรสงคราม นครปฐม อุทัยธานี และสมุทรปราการ รวมผู้มารับบริการกว่า 347,837 ราย ครั้งล่าสุดที่ออกให้บริการแก่ประชาชนวันที่ 1 - 5 ตุลาคม พ.ศ.2561 ที่วัดสีกุก อำเภอบางบาล วัดช่างทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา และอำเภอบางปะอินที่วัดเชิงท่า สุดท้ายที่ว่าการอำเภอบางปะอิน
ในการเตรียมงานวางแผนในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เรือพระราชทานเวชพาหน์ต้องเลือกช่วงฤดูน้ำหลากและตามกำหนดการของเรือยนต์หลวงและสำนักบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์และประสานเหล่ากาชาดจังหวัดต้องประชมพร้อมกันทุกส่วนในการเลือกพื้นที่ทางจังหวัดเป็นผู้เลือกว่าจะไปที่อำเภอไหนตามจังหวัดเห็นควร
ส่วนหมอเริ่มทำงานที่สภากาชาดไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เป็นหมอฝังเข็มประยุกต์และมีส่วนในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่กับเรือเวชพาหน์ตลอดมา คนไข้ส่วนใหญ่ เมื่อรู้ข่าวว่าเรือลำนี้จะมาเป็นเรือที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานมาจากความห่วงใยที่มีให้พสกนิกรของพระองค์ ชาวบ้านก็จะออกมารอกันตั้งแต่เช้า บางคนมาวันนี้แล้ว ก็จะตามมาอีกวันต่อๆ มา บางคนมาช้ำจนครบ 5 วัน ยินดีจะมารอเพื่อที่จะได้รับการรักษาจากเรือพระราชทานเวชพาหน์นี้
ก่อนหน้านี้อาจารย์หมอนายแพทย์ สหัส อรุณเวช เป็นอาจารย์ที่ทำงานกับเรือเวชพาหน์ ชึ่งอาจารย์เป็นหมอฝังเข็มที่ชาวบ้านขนานนามให้ว่าเป็นหมอเทวดา ชาวบ้านจะบอกกันต่อๆ ว่าเรือลำนี้มีหมอฝังเข็มเทวดามาด้วย
เรือพระราชทานเวชพาหน์จะล่องไปในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก เช่น นนทบุรี ปทุมธานี นครสวรรค์ อ่างทอง ชึ่งตัวของหมอเองเคยตามอาจารย์หมอไปกับเรือช่วงหนึ่ง หลังๆ ได้ยินชาวบ้านบอกว่าหมอเป็นลูกศิษย์หมอฝังเข็มเทวดาก็ภูมิใจที่อาจารย์ปูทางไว้ให้ หมอเคยเจอคนไข้ที่เคยมา 2 - 3 ครั้ง เขาได้รับการฝังเข็มไปแล้วอาการดีขึ้น พอทราบข่าวว่าเรือจะมาก็จะบอกต่อเพื่อนบ้าน บางคนมาวันแรกฝังเข็มไปแล้วดีขึ้นก็จะกลับมาอีก อย่างปวดแขน ขา ทำแล้วข้างหนึ่งก็จะกลับมาทำอีกข้างในวันต่อมา คนไข้ศรัทธาซาบซึ้งเชื่อในยาของพระเจ้าอยู่หัวนอกจากการรักษาพยายาลแล้ว ยังมีอุปกรณ์ยังชีพมาแจกด้วย
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ด้วยความรัก ความเมตตาที่พระองค์มีให้แก่พสกนิกรชาวไทย ทุกโครงการของพระองค์ไม่มีล้าสมัย ใช้ได้จริง นำไปปรับใช้ได้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอยู่ในใจคนไทยตลอดไป |